วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แนวทางแก้ไขในการพัฒนาประเทศ

                    การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ทุกภาคส่วนของสังคมควรผนึกกำลังร่วมกันในการขับเคลื่อน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของทุนทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ของคนในสังคมให้มุ่งผลประโยชน์ส่วนรวม และปรับวิธีคิด ทัศนคติในการดำเนินชีวิตใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ขณะเดียวกันต้องประสานเชื่อมโยงบทบาทภาครัฐท้องถิ่นและชุมชนให้มีส่วนร่วมทำงานด้วยกันได้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในท้องถิ่นความสมดุล  ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ ชุมชนสามารถบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างมีดุลยภาพสอดคล้องเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน เพิ่มพูนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดทางสังคมระหว่างผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทั้งนี้ การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของคนในชุมชนนอกจากจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจนที่มีความเป็นองค์รวมเกี่ยวพันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาดัชนีชี้วัดเพื่อสามารถสะท้อนผลการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศได้
การแก้ปัญหาความอยากจนโดยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
                เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
                เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม
                ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือแบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้ ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
                 อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ
กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะ
รวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น
                การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด 
แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่
                นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้น ครองสิริราชสมบัติ เมื่อ พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมาพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐาน และเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกร โดยเฉพาะประชาชนในชนบทและท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ได้ทรงประสบกับความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะพสกนิกรที่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้ล้วนแต่ประสบกับปัญหาในการประกอบอาชีพเนื่องจากอาชีพการเกษตรนั้นต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างๆ มากมาย  ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อันได้แก่ดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ รวมทั้งศัตรูพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ   สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากเมื่อก่อน
ดินเคยอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชอะไรก็เจริญเติบโต  สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้  แต่ปัจจุบันดินมีสภาพเสื่อมโทรมขาดแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช  โรคและแมลงศัตรูต่าง ๆ ก็ระบาดรุนแรงมากขึ้น  ปลูกพืชอะไรถ้าหากไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ก็จะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลิตผล ไม่เพียงแต่โรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น ยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกร  เช่นฝนแล้ง น้ำท่วม พายุ ลูกเห็บ เป็นต้น นอกจากนี้ การประกอบอาชีพทางการเกษตรนั้น ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆเช่น สภาวะเศรษฐกิจและการตลาดเป็นสำคัญ  ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจดี  ตลาดมีความต้องการสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรก็จะดีไปด้วย เกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้ ก็จะขายผลิตผลได้ ในราคาสูง สามารถมีรายได้ เพียงพอ ต่อการครองชีพ ภายในครอบครัว แต่ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ประสบกับภาวะขาดทุน บางรายถึงกับล้มละลายไปก็มีไม่น้อยด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระองค์ทรงทราบและตระหนักถึงความทุกข์ยากของพสกนิกรของพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยเน้นที่เกษตรกรยากจนในเขตน้ำฝน ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั้งประเทศเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 5-15 ไร่ แนวทางในการแก้ปัญหาก็คือ การจัดการแหล่งน้ำให้พอเพียงต่อการปลูกพืชในช่วงที่ไม่มีฝนเนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปลูกพืชหากมีน้ำเพียงพอ เกษตรกรก็สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี มีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่นดังกระแสพระราชดำรัสความว่า "หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภคน้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกเพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้" นอกจากการจัดการในเรื่องแหล่งน้ำแล้วการแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำรินี้ ิ ยังเน้นการจัดการระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ไว้บริโภคในครอบครัว และพื้นที่ปลูกพืชอื่น ๆ ไว้บริโภค ใช้สอย และจำหน่ายแนวทางการประกอบอาชีพการเกษตรแบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีงานทำ มีอาหารไว้บริโภค มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพอันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติในอนาคตแนวคิดในการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นี้ จึงเรียก
ว่า"ทฤษฎีใหม่"
ประโยชน์และความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่
                "เกษตรทฤษฎีใหม่"เป็นแนวทางหนึ่งซึ่ง เป็นความหวังที่จะทำให้เกษตรกรไทย มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะทำให้ระบบเศรษฐกิจ ของประเทศชาติโดยรวม มีความเข้มแข็งและมั่นคงตลอดไปเนื่องจากการ เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อเกษตรกรมีอาหารไว้บริโภค มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และครอบครัวอยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุขถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีสภาเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้ ประเทศชาติ มั่นคงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถลดและแก้ปัญหาภัยแล้งได้
                เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ กว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นเขตการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยมีระบบชลประทานทั้งประเทศประมาณร้อยละ 21 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้นหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ก็คือการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงที่มีฝนตกสำหรับเก็บไว้ใช้ในการเกษตรยามขาดแคลนซึ่งจะทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตน้ำฝนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลน นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ สามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาความแห้งแล้งที่เกษตรกรประสบอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง

เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้การใช้พื้นที่การเกษตรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
            จากหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกพืชอย่างเหมาะสม  เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว และปลูกพืชชนิดอื่นๆ  ได้แก่ พืชไร่  ไม้ผล  พืชผัก  สมุนไพร  และไม้ใช้สอย รวมทั้งมีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และในบริเวณที่อยู่อาศัยนี้เอง  สามารถใช้เป็นที่ปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ด และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค การจัดสรรพื้นที่แบบนี้จะทำให้พื้นที่ทุกส่วนได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่  สามารถใช้พื้นที่ได้ตลอดทั้งปี  ผิดกับเมื่อก่อนที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปลูกพืชชนิดเดียว  พื้นที่ก็ไม่ได้นำมาใช้เต็มที่  มีการใช้เฉพาะที่หรือบางฤดูกาลเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น